ในช่วงเวลาที่ดิฉันติดตามงานเพื่อที่สัมภาษณ์ศิลปินที่น่าสนใจใน
ประเทศไทย คุณวิเชียร วงศ์ศุภลักษณ์ ในโอกาสหนึ่งเขาและศิลปินอีก
สองท่านคืออาจารย์สมชาย วัชระสมบัติ และอาจารย์ไมตรี หอมทอง
เดินทางมาร่วมสันทนาการกับเยาวชน โดยการนำกิจกรรมที่มีชื่อว่า
“Earth-ART” ซึ่งเป็นโครงการศิลปะนำร่องทำร่วมกันกับจังหวัด
แม่ฮ่องสอนที่มาทดลองสร้างงานศิลปะให้เหมาะสมเพื่อปรับใช้กับงาน
ศิลปะในวิถีชีวิตบนเขาสูง เป็นโครงการพัฒนาตามพระราชดำริกับ
นักเรียนระดับมัธยมที่ในอนาคตต้องทำงานอยู่ในหมู่บ้านของตนในเขต
ปางอุ๋ง ปางตอง และโป่งแดง
ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้สัมภาษณ์คุณวิเชียร วงศ์ศุภลักษณ์ในโอกาสที่
เหมาะสมหลังจากที่ติดตามงานภาพวาดของเขามาพอสมควร และได้
สนทนากันหลายครั้ง แต่เมื่อดิฉันเห็นภาพวาดก็ทราบว่าเขาเป็นศิลปิน
และผู้อนุรักษ์ธรรมชาติอย่างแท้จริงที่มักจะมีการบันทึกเวลาในการ
ทำงาน การเดินทางและไม่ใช่งานวาดภาพอย่างเดียว เขาเป็นกวีที่
ถ่ายทอดงานด้วยปลายปากกาอย่างต่อเนื่องและเป็นการอธิบายภาพ
และภาพที่เห็นนั้นก็จะเป็นภาพขนาดใหญ่มากเป็นส่วนใหญ่
ขนาดความกว้าง x ความสูง 150 x 180 ซม. และภาพที่กล่าวถึงจะเป็น
จะเป็นภาพที่เขากล่าวว่าสิ่งที่ชอบเป็นพิเศษคือรูปใบไม้ร่วง รูปใบไม้ที่
ขาดๆ ที่เขานำมาพิจารณาว่าวันเวลาทำให้ใบไม้หลุดร่วงหลังจาก
ทำงานทำหน้าที่มาอย่างหนัก รูปใบไม้แห้งที่ร่วงหล่นมากองกับพื้นกลับ
ทำให้เขาได้งานใหม่ๆ ออกมาอย่างน่ามหัศจรรย์ หลังจากมีผลงาน
ดอกไม้ใบไม้ที่สวยงามมาโดยตลอด และปีนี้เป็นปีที่สำคัญจากการ
เดินทางไปดูงานที่ประเทศจีน เดินทางมาช่วยสอนวาดภาพให้กับชาว
เผ่าทางภาคเหนือของประเทศไทยและรับรองศิลปินชาวต่างชาติ งานที่
จะต้องทำคือการวาดภาพปกของหนังสือ “บ้านที่พ่อสร้าง”ตาม
โครงการในพระราชดำริที่ปางตอง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ต่อไปนี้เป็นบทสนทนากับคุณวิเชียร
จานีน: ช่วยเล่าประสบการณ์ของการเป็นศิลปินของคุณวิเชียรค่ะ
วิเชียร: การเป็นศิลปินไทยลำบากนะครับ ถ้าใจไม่มั่นคงแข็งแรงพอ
อยู่ไม่ได้ เพราะไม่มีเงินเดือน ไม่มีสถาบันมีเกียรติรองรับให้มีผู้มาสนับ
สนุนผลงานเพราะการสนับสนุนผลงานก็มีผลประโยชน์ต่อกัน ผมจึง
เคารพศิลปินที่ทำงานอย่างแท้จริง ไม่กินเงินเดือน ทำงานตามความฝัน
รักศรัทธาศิลปะถึงตัวเองจะลำบากก็ยังทำงาน อย่างอาจารย์ประเทือง
เอมเจริญ
ผมฝันจะเป็นคนวาดภาพตอนสมัยเรียนเพาะช่าง เคยตามไปดูบ้านของ
อาจารย์ประเทือง ได้สัมภาษณ์ท่านลงในหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน
เต็มหน้า
เมื่อผมเรียนปวส.จบใหม่ๆ ได้เข้าทำงานที่ธนาคารศรีนคร สำนักงาน
ใหญ่ สวนมะลิ อยู่ 2 ปี เป็นพนักงานดีเด่น ทำงานกับรุ่นพี่จบจิตรกรรม
ศิลปากร เพาะช่าง ยังไม่ทิ้งการวาดภาพ และเขียนบทความศิลปะลงใน
สยามรัฐควบคู่กันไป และเห็นว่าถ้าเรายังใช้ชีวิตเป็นแบบนี้ ความฝันที่จะ
ทำงานศิลปะจริงๆคงไม่มีโอกาส ในจังหวะที่เพื่อนร่วมอุดมการณ์ 2 คน
เกียรติศักดิ์ ผลิตาภรณ์ ลาออกจากระบบการศึกษาไปนั่งวาดภาพ ปลูก
มันในดงมะพร้าว ที่จังหวัดประจวบคีรีขันต์ จำรัส รัตนะ ขอหยุดเรียนจาก
คณะประยุกต์ศิลป์ ศิลปากร ตกลงพวกเราทั้ง 3 คน ขึ้นไปวาดภาพบน
ดอยขุนตาน กันสักครั้ง โดยมีความเชื่อว่าถ้าทำงานศิลปะอยู่กับ
ธรรมชาติอย่างจริงจัง จะเป็นอย่างไร และเป็นต้นธารการตั้งกลุ่มศิลปิน
ตะวัน ในปี 2526
จานีน: ความตั้งใจสำหรับงานวาดภาพ ที่เป็นความภูมิใจส่วนตัวและ
อยากให้ผู้อ่านได้ทราบ
วิเชียร: จากวันนั้นถึงวันนี้ 30 กว่าปี พานพบกับคนมากมาย หลากหลาย
ทุกอาชีพมีทั้งสุข ทุกข์ ประสบผลสำเร็จ ผิดหวัง ตามกรรมของแต่ละคน
รวมทั้งคนวาดฝัน แต่คนวาดฝันได้ทำในสิ่งที่รักที่ชอบ แตกต่างจาก
อาชีพอื่น ที่ทำตามสิ่งคนอื่นสั่งให้ทำ แต่ทุกอาชีพมีความสำคัญทั้งนั้น
เพียงแต่ ศิลปิน ไม่มีเงินเดือนเขายังสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้
อัศจรรย์
จานีน: ดิฉันอยากทราบความคิดของคุณเกี่ยวกับสังคมไทยทั่วๆไปกับ
การวาดภาพหรือการใช้สื่อศิลปะที่คุณได้ทำมา
วิเชียร: ผมจำคำพูดของท่านผู้ใหญ่ เมื่อสัก 20 ปี ท่านบอกให้ผมได้คิด
วิเชียร สังคมไทยเรา ศิลปะอยู่ในชั่วโมงที่ 25 นะ ไม่เหมือนเมืองนอก
ศิลปะอยู่ในชั่วโมงแรกๆ ฟังครั้งแรกไม่เข้าใจ แต่วันนี้เข้าใจดีแล้ว เวลา
มีเพียง 24 ชั่วโมง การเป็นศิลปินอยู่ในชั่วโมงที่ 25 มีที่ไหน อยู่ในแดน
สนธยา แต่ถึงจะรู้ว่าลำบาก ผมก็ไม่เคยเปลี่ยนใจ ยังวาดฝันเมื่อใจมี
ความพร้อม และแบ่งเวลาทำงานออกแบบสิ่งพิมพ์ให้ชีวิตอยู่ได้ เพราะ
เราวาดภาพตามฝัน ไม่ได้วาดตามสั่ง
ศิลปะ ศิลปินมีคุณค่า สร้างมูลค่าเกินประเมินค่า สามารถนำไปปรับใช้กับ
วิชาชีพอื่นๆได้ทุกมิติ ภาพวาดของผมมอบให้องค์กรการกุศลใช้พิมพ์หา
รายได้มากกว่า 10 องค์กร ได้รับการตอบรับอย่างดี ผลพวงจากการ
ประมูลภาพเคยมอบให้กับมูลนิธิธรรมนาถ ปลูกป่าที่อำเภอจอมทอง
สมัยที่ป่าภาคเหนือยังไม่หัวโล้นแบบวันนี้ เป็นเงินมากกว่าแปดแสนบาท
เมื่อ 25 ปีมาแล้ว รวมทั้งมอบให้สภากาชาด สร้างอาคาร ไอ ซี ยู เด็ก
โรงพยาบาลจุฬา เมื่อ 30 ปี ที่แบบยังเป็นกระดาษ และยังได้รวมกลุ่ม
เพื่อนศิลปิน นำศิลปะไปบูรณาการให้กับเด็ก เยาวชนใฝ่ศิลป์ องค์กร
ต่างๆ เพราะมีความเชื่อว่าศิลปะมีคุณค่า
จานีน: ช่วยเล่าประวัติส่วนตัวของคุณโดยสังเขป พูดถึงผลงานที่ได้รับ
รางวัล หรืองานที่คุณรู้สึกภูมิใจมากที่ได้ทำออกมา
วิเชียร: ผมเป็นคนใต้ เกิดที่ตำบนบางนบ อำเภอหัวไทร จังหวัด
นครศรีธรรมราช พอศอ 2499 สมัยเรียนมัธยมที่อำเภอปากพนัง ชอบไป
ดูการวาดภาพที่โรงหนัง ชอบปั้นดินเหนียว รูปวัว ควาย ชอบแกะหนัง
ตะลุง ไปนอนดูหนังตะลุงหลับหน้าโรงหนัง ยังซุกซนปีนป่ายขึ้นไปดู
นายหนังเชิดหนังบนโรงหนังตอนเด็กๆ พอเข้ามาเรียนในกรุงเทพยังไม่รู้
ว่าจะเรียนอะไรดี มีพี่สาวเป็นครู บอกให้ไปสอบที่เพาะช่าง ปีแรกสอบ
ไม่ติดเพราะมาจากบ้านนอกไม่มีพื้นฐานอะไรมาเลย ผิดหวัง ต้องไป
เรียนคั่นเวลาอยู่หนึ่งปี ที่โรงเรียนอาชีวศิลป์ ทุกๆวันตอนเที่ยงเข้าไปอยู่
ในห้องพักครู นั่งวาดหุ่นปูนปั้นต่างๆจนชำนาญ มาสอบใหม่ได้เข้าเพาะ
ช่างสมใจ และการฝึกฝนอย่างจริงจัง ทั้งการวาดภาพ อ่านหนังสือ ดู
หนัง ติดตามข่าวสารกิจกรรมศิลปวัฒนธรรม เมื่อถึงคราวประกวด
ภาพวาดประจำปีที่เพาะช่าง ชนะรุ่นพี่ได้รับรางวัลทุกครั้ง ตั้งแต่เข้าเรียน
ปวช. และ ปวส.
ความประทับใจของคนวาดภาพ ผลงานมีคนชอบ เคยเขียนโครงการ
กิจกรรมศิลปะเด็กให้กับโรงแรมมณเทียร เมื่อ 30 ปีมาแล้ว ได้ร่วมงาน
ไว้สาแม่ฟ้าหลวง ทำงานถวายสมเด็จย่า กับอาจารย์นคร พงษ์น้อย
ตั้งแต่ครั้งแรก และต่อมาอีกหลายครั้ง ทั้ง "เอื้องแซะกับขุนวิรังคะ"
"ศิขริญรัญจวน" เป็นการวาดภาพที่แสนประทับใจและมีความสุข ปัจจุบัน
ผมกำลังวาดภาพใช้ทำปกหนังสือ "บ้านที่พ่อสร้าง" ตามโครงการ
พัฒนาตามพระราชดำริ ปางตอง แม่ฮ่องสอน มีความภูมิใจที่ผู้ใหญ่เห็น
คุณค่า
จะสุดฟ้า สุดเมฆา พ่อไม่เคยท้อ
ต่ำติดดินถึงยอดภูผา พ่อไม่เคยลืม
ไม่มีน้ำ ไม่มีป่า ไม่มีที่ทำกิน สุขพอเพียง พ่อจัดให้
เป็นบุญของคนไทย ที่เกิดมามีพระเจ้าอยู่หัวฯ
น้ำพระทัยดั่งสายฝนจากใจสรวงสวรรค์
ชโลมใจปวงประชา ใต้ฟ้าทั่วไทย ขอพระองค์จงพระเจริญ
ผมมีความเชื่อและมีโอกาสได้สอนสั่งเด็กๆ คนที่จะประสบผลสำเร็จได้
ต้องมี 4 อย่างเท่านั้น 1.ต้องอ่าน 2.ต้องดู 3.ต้องคิด และ 3.ต้องทำ
อยู่ตลอดเวลาเหมือนลมหายใจ ทำให้ผมมีเป้าหมายชัดเจนในวันนี้
จานีน: มีอะไรอื่นๆ ที่อยากจะฝากถึงผู้อ่านในเดือนนี้
วิเชียร: ศิลปะอยู่ในตัวเราทุกคน ไม่ใช่สิ่งอยู่บนหอคอยงาช้าง ทุกคน
เข้าถึงได้ ถ้าเข้าใจศิลปะ โลกนี้จะน่าอยู่มากขึ้น รู้ศิลปะ ไม่ใช่สอนให
ใครเป็นศิลปิน
ในปีหน้า พ.ศ. 2559 อาจเป็นเวลาที่ดีที่สุดสำหรับงานนิทรรศการศิลปะ
เดี่ยวของผม เพราะว่าตอนนี้ผมมีภาพเขียนที่บอกเล่าเรื่องราวของ
ประเทศที่ผมรักให้ทุกคนได้ทราบ
|