ดิฉันไปเยี่ยมชมสตูดิโอสุริยันจันทราอีกครั้งหนึ่งในเดือนกันยายน พ.ศ. 2559
หลังจากที่ทราบว่าสถานที่แห่งนี้จะปิดตัวลงอย่างถาวร ครั้งนี้ดิฉันได้เห็นภาพวาด
ขนาดใหญ่บนฝาผนัง ภาพวาดนี้เขียนขึ้นโดยใช้กระดาษเยื่อไผ่ ดินสอ และปากกา
หมึกดำ ดิฉันทราบว่าใครเป็นผู้วาดภาพนี้เพราะดิฉันเคยเห็นผลงานของเขาในงาน
นิทรรศการที่กรุงเทพเมื่อปีที่แล้ว ศิลปินผู้วาดคือคุณนพนันท์ ทันนารี เป็นศิลปิน
อิสระ
เมื่อไม่นานมานี้ดิฉันได้สนทนากับคุณนพนันท์เกี่ยวกับการเดินทางไปยัง
สหรัฐอเมริกา เขาพูดเกี่ยวกับการเดินทางไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์หลายแห่งที่นั่น
คุณนพนันท์เกิดที่จังหวัดเชียงราย จบการศึกษาปริญญาตรีและปริญญาโทจาก
มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่มีสตูติโอทำงานในจังหวัดนครปฐม ภาคกลางของ
ประเทศไทย ในช่วงการเดินทางไปยังอเมริกาเขาได้ถ่ายภาพพิพิธภัณฑ์และงาน
นิทรรศการศิลปะที่เขาไปเยี่ยมชม เขาให้ดูภาพบางส่วนที่เขาได้ถ่ายไว้ในระหว่าง
การเดินทาง เขาบอกกับดิฉันว่าเขาสนใจในผลงานของ อเมดีโอ โมดิกลิอานิ
ต่อไปนี้เป็นบทสัมภาษณ์กับคุณนพนันท์
จานีน: ช่วยเล่าถีงผลงานศิลปะที่คุณสร้างสรรค์ในมุมมองของคุณ
นพนันท์: ประสบการณ์ในชีวิตนับตั้งแต่จำความได้จนถึงปัจจุบันนั้นส่งผลต่อการ
สร้างสรรค์งานศิลปะของผมอย่างมาก แต่ไม่ว่าชีวิตจะก้าวผ่านเรื่องราว
ประสบการณ์มามากน้อยเพียงใด ท้ายที่สุดแล้วกระบวนการทำงานศิลปะจะเป็นตัว
คัดกรองความคิดความรู้สึกที่ฝังอยู่เบื้องลึกในใจให้ออกมาได้อย่างน่าทึ่งไม่ว่ามัน
จะเป็นสิ่งธรรมดาที่สุดก็ตาม ซึ่งสิ่งที่เป็นเนื้อหาในงานของผมเป็นเรื่องสามัญล้วน
แล้วแต่มีต้นตอมาจาก วิถีชีวิต ความอบอุ่น ครอบครัว ความรู้สึกจากธรรมชาติ
รอบตัว แสดงออกผ่านความหยาบรุนแรงเคลื่อนที่พัฒนาสู่ความประณีตจนเห็น
ความสงบที่มีอยู่ในจิตใจ ซึ่งในแต่ละช่วงประสบการณ์ของชีวิตนั้นมีความแตกต่าง
กันไป มีลักษณะความหยาบและปราณีตและอารมณ์ความรู้สึกไม่เหมือนกัน
แล้วแต่แรงบันดาลใจในช่วงเวลานั้นๆ
ความรู้ความเข้าใจในปรัชญาทางตะวันออกโดยเฉพาะปรัชญาทางพุทธศาสนาก็มี
ความสำคัญสำหรับผมยากที่จะปฏิเสธได้ และไม่ว่าผมจะมีปัจจัยจากสิ่งใดรอบตัวก็
ตามมักจะเชื่อมโยงถึงองค์ความรู้ทางด้านปรัชญาที่ว่านี้โดยอัตโนมัติ ยกตัวอย่าง
เช่น ครั้งหนึ่งผมเคยเห็นดอกบัวที่แห้งเหี่ยวตาย สำนึกบางอย่างก็ทำให้จิตคิดไป
ถึงความไม่เที่ยงเกิดการพิจารณาและทำความเข้าใจเชื่อมโยงกับประสบการณ์ชีวิต
ที่เคยสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักและมิตรสหายและวางความเศร้าโศกนั้นลงได้ด้วย
สติ และอนุสติอีกส่วนหนึ่งก็พลันให้เชื่อมโยงไปถึงความงามในปรัชญา วะบิ-ซะบิ
ของญี่ปุ่นที่บ่งบอกถึงความเรียบง่ายในองค์ประกอบความงามบนพื้นฐานของความ
ไม่เที่ยงของสรรพสิ่งและเยินยอความงามในแสงสลัว สิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งการเกิด
จิตนาการของผม เป็นต้น หากดูภาพรวมของผลงานของผมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน
แล้วน่าจะบอกได้ว่าความสงบนั้นครอบคลุมคอนเซ็ปต์ทั้งหมด ลักษณะงานจึง
แสดงออกถึงความสุขุม อ่อนน้อมถ่อมตน รักษาสุนทรียะในความธรรมดาสามัญ
ของตัวรูปแบบเนื้อหาและอารม์ความรู้สึกไว้ ซึ่งเนื้อหานี้อาจเปลี่ยนแปลงไปตาม
สภาวะนั้นๆ และจะก้าวย่างไปทีละนิด และจะไม่ก้าวกระโดด
ผลงานส่วนใหญ่จึงยังอยู่ในลักษณะของทิวทัศน์ทางธรรมชาติ
จะมีความแตกต่างของสัญลักษณ์และ
มุมมองบ้างตามแต่จินตนาการในช่วงเวลานั้นๆ
งานของผมส่วนใหญ่เป็นงานวาดเส้นและจิตรกรรมสีอะคริลิคซึ่งตนเองมีความถนัด
เนื่องจากใช้เวลาเรียนรู้และปฏิบัติฝึกฝนมานาน เหตุผลอีกประการก็คือผมเห็น
ความพิเศษของสื่อที่อยู่บนระนาบ2มิติ ซึ่งสามารถประจุทัศนธาตุที่ทรงพลังได้โดย
ไม่ต้องอาศัยความซับซ้อนในกระบวนการมากมาย แรงบันดาลใจสำคัญนั้นคือชีวิต
และความงามแห่งปัญญา เป็นสุนทรียภาพที่เป็นไปเพื่อชีวิตที่ดีของตัวผมในถานะ
ของผู้สร้างสรรค์รวมไปถึงผู้ที่ได้พบเห็นผลงานของผมด้วย ถึงแม้ว่างานศิลปะที่
ผมทำนั้นจะมีต้นตอทางความคิดและเหตุปัจจัยทางความรู้สึกมาจากชีวิตของผม
เพียงผู้เดียวก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ตั้งใจที่จะครอบงำผู้อื่นให้คิดหรือรู้สึกเหมือนกับผม
ทุกประการ ผู้ดูสามารถสำรวจรายละเอียดและพิจารณาผลงานโดยรวมแล้วเกิด
จินตนาการหรือความคิดที่แตกแขนงแยกออกไปได้ไม่รู้จบ สิ่งนี้นี่เองทำให้ผมรู้สึก
ว่าเป็นความงดงามของศิลปะ
จานีน: มีแรงบันดาลใจอะไรบ้างที่ทำให้คุณหันมาเป็นศิลปินอาชีพอย่างเต็มตัว
นพนันท์: ผมเคยคิดไว้ถ้าเรียนจบแล้วก็จะทำงานศิลปะที่ชอบเลยเพราะผมไม่
อยากสูญเสียความต่อเนื่องไป ลำพังเพียงแค่งานที่ทำตอนเรียนมาจนถึง
วิทยานิพนธ์นั้น ส่วนตัวแล้วยังอยากจะพัฒนาต่อ มีความคิดในสมุดสเก็ตช์อีก
เยอะแยะมากมายที่ผมบันทึกไว้แต่ยังไม่ได้ทำก็เลยตัดสินใจทำมันต่อซะเลยครับ
เงินที่เก็บไว้จากการขายงานได้ตอนเรียนก็พอมีเหลืออยู่ให้พอใช้ชีวิตได้อย่างไม่
ฟุ่มเฟือย ที่จริงแล้วในขณะนี้ผมก็ยังพูดไม่เต็มปากนะครับว่าตนเองเป็นศิลปิน
อาชีพแล้ว ผมจะยังไม่เรียกว่าเป็นอาชีพ เพราะนับเวลาแล้วผมได้เข้ามาสัมผ้ส
ศิลปะจริงๆจังๆนับช่วงเรียนด้วยรวมแล้วก็แค่13ปีมานี่เอง สำหรับผมมันยังละอ่อน
มาก
ตอนนี้ผมรู้สึกว่ามันเป็นการเรียนรู้กระบวนการ เริ่มตั้งแต่การสร้างสรรค์ ไปจนถึง
เรียนรู้ระบบต่างๆที่อยู่ในวงการศิลปะและสังคมว่ามีเหตุปัจจัยใดบ้างที่จะทำให้
ผลงานเราพัฒนาไปในแบบที่มันควรจะเป็น และสามารถอยู่ในกระแสแวดวงของ
สังคมศิลปะได้ด้วยวิธีใดบ้าง เพียงแต่หน้าที่ของเราเราเป็นคนกำหนดเองและมี
อิสระที่จะตัดสินใจพอๆกับการรับฟังผู้อื่นที่เข้ามาแนะนำด้วย แต่สิ่งสำคัญที่จะขาด
ไปไม่ได้นั่นคือความศรัทธาว่าเราทำได้! มันน่าจะเป็นไปได้ และมันค่อยๆพิสูจน์ที
ละนิดๆมาเป็นลำดับบ้างแล้ว แม้ว่าความสำเร็จในเรื่องรางวัลและชื่อเสียงต่างๆผม
แทบนับได้ว่าห่างชั้นศิลปินหลายๆคนก็ตาม แต่ผมก็อยู่ได้เพราะความจริงใจและ
ผลิตผลงานอย่างต่อเนื่อง และที่ผ่านมาก็มีผู้ใหญ่บางท่านเห็นความมุ่งมั่นในตัว
ผลงานของผม จึงให้การสนับสนุนในการทำนิทรรศการเดี่ยวของตัวเองเป็นครั้ง
แรกในชุด “บรรยากาศแห่งความสงบ”(The Tranquility of Mind) ในช่วงปลาย
ปี2014 และกำลังจะมีนิทรรศการเดี่ยวครั้งที่สองในชุดผลงานที่ชื่อว่า
“สัจจะ-สามัญ” (Simple-Truth) ที่กำลังจะเกิดขึ้นช่วงต้นปี2017 นี้ด้วยอีกครับ
ผมมีความสุขในขณะทำงาน คนที่มาสนับสนุนผมแม้เป็นจำนวนที่ยังไม่มากแต่ก็
ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่รักงานของผมจริงๆผมดีในในจุดๆนี้ครับ และมันทำให้ผม
อยู่ได้ หากจะถามว่าแรงบันดาลใจของผมคืออะไร? ขณะนี้ผมขอตอบแบบสรุปว่า
มันคือ “ผมอยากที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปโดยทำหน้าที่ของเราให้เต็มที่ที่สุดครับ”
จานีน: เล่าถึงประสบการณ์ในการเดินทางไปชมพิพิธภัณฑ์ที่ผ่านมา คุณอยากบอก
อะไรกับเพื่อนศิลปินและผู้อ่าน เพราะดูเหมือนว่าจะเป็นการเดินทางโดยลำพัง และ
คุณตั้งใจไปชมอย่างมาก
นพนันท์: ผมเคยสัญญากับตัวเองไว้ว่าสักวันหนึ่งในชีวิตนี้จะต้องได้เห็นผลงาน
ศิลปะมาสเตอร์พีชในพิพิธภันฑ์ระดับโลกให้ได้ และผมจะไม่รอให้ผมแก่ซะก่อน
ลองคิดเล่นๆดูนะครับว่าถ้าหากผมเก็บเงินไปดูงานต่างประเทศในตอนนี้คืออายุ
ยี่สิบปลายๆ ผมก็จะมีไฟและมุมมองที่กว้างขึ้นจากการเดินทางวัยหนุ่มสามารถเก็บ
แรงบันดาลใจและองค์ความรู้จากการชมงานศิลปะระดับโลกกลับมาทำงานได้อีก
อย่างน้อยอีก50-60ปีหากมีอายุยืนนะครับ แรงผลักดันจากการอ่านหนังสือและ
ความสนใจช่วงเรียนวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ในมหาวิทยาลัยเป็นสิ่งที่ทำให้คิดว่า
เพียงแค่อ่านและเห็นผลงานระดับโลกจากหนังสือมันไม่เพียงพอสำหรับผม ก็คิด
ง่ายๆแบบนี้เลย ไม่มีอะไรซับซ้อน เหตุผลอีกประการคือย้อนกลับไปเมื่อสามปีที่
แล้วมีสามีภรรยาชาวอเมริกันคู่หนึ่งได้ซื้อผลงานของผมกลับไปและสองปีให้หลัง
เขาก็ส่งอีเมลกลับมาให้ทราบว่างานของผมได้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเขาแล้ว
ซึ่งอยู่ที่เมืองซานดิเอโก้ รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งบังเอิญว่าเป็นเมืองเดียวกันกับบ้าน
ของคุณป้าของผมที่ย้ายไปอยู่ที่นั่นเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว มันเป็นความบังเอิญที่ไม่น่า
เชื่อและน่ายินดีเอามากๆ ผมเลยคิดว่าสหรัฐอเมริกาน่าจะเป็นประเทศแรกที่น่าจะ
เป็นไปได้มากที่สุดสำหรับเดินทางไกลตามความฝันเรื่องงานศิลปะ เยี่ยมคุณป้า
และได้พบกับผู้ใหญ่ที่เคยสนับสนุนผลงานของผมทั้งสองท่านนั้นด้วย แต่ที่สำคัญ
คือครั้งนี้เป็นการเดินทางไปพร้อมทักษะทางภาษาอังกฤษที่งูๆปลาๆ ถึงแม้จะรู้สึก
ประหม่าเอามากๆแต่เมื่อพบเจอชาวต่างชาติที่นั่นกลับไม่เคยมีแม้แต้คนเดียวที่ล้อ
หรือตำหนิเราเรื่องภาษาเลยแต่กลับมีน้ำใจช่วยแนะนำในการใช้ภาษามากกว่า ทำ
ให้ผมมีกำลังใจในการเดินทางครั้งนี้
ผมนัดกับเพื่อนชาวอเมริกันคนนึงใน LA เพื่อชมพิพิธภัณฑ์ ได้แก่ Hummer
Museum Getty Museum LACMA MOCA LA Huntington Library Art Collections and Botanical Gardens ที่ซานมาริโน่, Norton Saimon Art
Museum ที่พาซาดิน่า การเยี่ยมชมตามรายชื่อพิพิธภัณฑ์ที่กล่าวมานี้ก็นับว่าคุ้ม
มากๆเนื่องจากได้ชมงานครบทุกยุคสมัยเท่าที่ประวัติศาสตร์โลกจะบันทึกไว้ โดย
เฉพาะที่ LACMA นั้นมีงานศิลปะตั้งแต่ยุคเมโสโปเตเมียไล่เรียงตามเส้นเวลามาถึง
ศิลปะสมัยใหม่และศิลปะร่วมสมัยในยุคนี้เลยทีเดียว มุมมองด้านมิติสภาพที่
หลากหลายวิวัฒนาการของสังคมในโลกใบนี้บ่งบอกได้ในงานศิลปะแต่ละชนิดแต่
ละยุคสมัยในพิพิธภัณฑ์ระดับโลก สำหรับใน LA นั้นผมประทับใจมากเลยครับ
เพราะเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้เห็นงานของศิลปินระดับโลก เช่น แรมบรัน แวนโก๊ะ
ปิซาโร่ เดอร์การ์ โมเน่ โมดิกลิอานี่ ร๊อชโก้ มงเดรียน ปิกัสโซ่ ผมออกเดินทาง
ด้วยเงินเพียง700 ดอลล่าร์ ระยะเวลาเพียงแค่1สัปดาห์ที่ใช้ชีวิตที่นั่นเงินผมก็หมด
ลงอย่างรวดเร็วด้วยค่าครองชีพที่สูง จึงต้องหาวิธีเอาชีวิตรอดโดยขอทำงานกับที่
ร้านอาหารไทยของป้าที่ซานดิเอโก เพื่อเก็บเงินที่จะเดินทางต่อไปที่เมืองซาน
ฟรานซิสโกและเมืองซาคราเมนโต้ตามคำเชิญชวนของเพื่อนอีกคนนึงของผม
ซึ่งเป็นคนไทย
ที่ซานฟรานซิสโกอากาศเย็นสบายทั้งที่เป็นช่วงหน้าร้อน ผมได้ไปเยือน
De Young Museum ช่วงนั้นมีงานแสดงผลงานของ J.M.W.Tuner รวบรวม
ผลงานที่เขาสร้างสรรค์ระยะเวลา16ปี มาให้ชม จัดหมวดหมู่ผลงานแต่ละช่วงเวลา
ของการสร้างสรรค์อย่างชัดเจนและน่าสนใจ มีหลายชิ้นงานทั้งที่เคยพบเห็นและ
ไม่เคยเห็นมาก่อนจากในหนังสือ และที่นี่ทำให้ผมได้พบกับงานของชนเผ่า
อนารยชนจากทวีปแอฟริกา(Primitive Art) ทรงพลังงดงามและน่าทึ่งมากๆ คาด
ไม่ถึงมาก่อนว่าชาวอนารยชนจะมีอัฉริยภาพทางทัศนศิลป์ได้ขนาดนั้น และได้เดิน
ดูศิลปะสมัยใหม่อีกมากมายที่นี่ถือว่าเป็นมิวเซียมที่ใหญ่มากที่หนึ่ง
ครั้งนั้นผมพลาดมากที่ไม่ได้ชมงานที่MoMA SF เนื่องจากปิดปรับปรุง เป้าหมาย
จึงเปลี่ยนไปดูแหล่งกำเนิดของค่ายภาพยนต์การ์ตูนที่ยิ่งใหญ่อย่างWalt Disney
ที่ The Walt Disney Family Museum ซึ่งขณะนั้นมีงานของนิทรรศการของ
Salvador Dali คู่กับ Walt Disney แสดงความสัมพันธ์ทางความคิดสร้างสรรค์และ
ความสำเร็จของทั้งคู่ที่เคยทำงานร่วมกัน ด้วยความสามารถในเส้นทางของเพื่อนๆ
ผมจึงได้เที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่งในซานฟรานซิสโก และข้ามไป
ชมเมืองเก่าอย่างเมืองซาคราเมนโต้อันเป็นเมืองหลวงของแคลิฟอร์เนียและเลยไป
ชื่นชมธรรมชาติที่ทะเลสาป Lake Tahoe ผมรู้สึกประทับใจและขอบคุณพวกเขา
มากๆในเรื่องที่พักและน้ำใจหลายๆด้านของพวกเขา ระหว่างทางผมได้บันทึก
ความประทับใจเป็นภาพวาดลายเส้นและจดบันทึกไอเดียใหม่ๆได้มากมาย ผมใช้
เวลาที่ซานฟรานซิสโก2วันและซาคราแมนโต้อีก3วันจากนั้นก็กลับมาพักและ
ทำงานต่อที่ซานดิเอโก้ได้สักระยะนึง ก็ได้เดินทางไปนิวยอร์กโดยการสนับสนุน
ของผู้ใหญ่ใจดีท่านหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นโชคดีของผมที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน
ในนิวยอร์กผมเห็นความหลากหลายทางเชื้อชาติ สังคม วัฒนธรรม คนจำนวนมาก
แทบทุกที่ในโลกใบนี้เข้ามาอยู่รวมกันที่นี่ในเมืองแห่งมหาอำนาจของโลกแห่งนี้
หลากหลายมากกว่าที่ซานฟรานซิสโกและแอลเอที่เคยพบมาเสียอีก นิวยอร์คเป็น
ศูนย์รวมที่สุดของโลกรวมไปถึงในเรื่องศิลปะด้วย โดยภาพรวมแล้วเมื่อการเมือง
การปกครองของโลกได้ย้ายฐานอำนาจความเจริญทางเศษฐกิจ สังคม มาอยู่ที่
สหรัฐอเมริกา ศิลปะก็ย้ายมาเช่นกัน ศิลปินเก่งๆระดับโลกจำนวนมากย้ายเข้ามา
แสวงหาความสำเร็จที่นี่ตั้งแต่ปลายคริสศตวรรษที่19-20 เกิดแนวทางใหม่ๆแก่
วงการศิลปะบนโลกใบนี้มากมายซึ่งเป็นการปฏิวัติวงการศิลปะสมัยใหม่(Modern
Art)ที่ยิ่งใหญ่มาก จวบจนศตวรรษที่21ถึงปัจจุบันศิลปะร่วมสมัย(Contemporary
Art)ก็ยังเคลื่อนที่ไม่หยุด ศิลปินสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา ด้วยความเป็น
มหาอำนาจของอเมริกาจึงจะเห็นได้ว่ามีผลงานศิลปะทุกยุคทุกสมัยทุกประเทศบน
โลกใบนี้เก็บรวบรวมไว้ที่นี่มากมายมหาศาล ดังเช่นจะเห็นได้ในพิพิธภัณฑ์ The
Metropolitan Museum of Art ซึ่งลำพังเวลาที่มีอยู่แค่วันสองวันนั้นไม่มีทาง
เป็นไปได้แน่นอนที่จะดูได้ครบทุกอย่าง และที่ MoMA New York Museum ผม
ได้พบกับงานศิลปะที่อยู่ในประวัติศาสตร์ของโลกมากมายรวมทั้งศิลปะร่วมสมัยที่ดี
ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกแสดงอยู่ที่นี่ ซึ่งในนั้นมีผลงานของศิลปินไทยสองท่าน คือ
คุณฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช และ คุณกรกฤต อรุณานนท์ชัย
นิวยอร์กเป็นดินแดนที่คนมาตามหาความฝัน ทุกคนทำงานหนักและจริงจังมาก
เวลามีค่ามากๆสำหรับพวกเขา ผมเห็นคนร้องเพลงและแสดงความสามารถต่างๆใน
สถานีรถไฟใต้ดิน ตามรายทางมีคนเก่งมากมายพวกเขาทำตามความฝัน ผมได้พบ
รุ่นพี่ของผมคนนึงที่จบมาจากสถาบันเดียวกันจากเมืองไทยมาใช้ชีวิตอยู่ในใน
นิวยอร์ค ชื่อพี่ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล เป็นคนมีน้ำใจวาดรูปเพื่อช่วยคนไร้บ้านใน
นิวยอร์ก ทำงานหนักเพื่อนำเงินมาทำในสิ่งที่ตนเองรักและช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์
ด้วยกัน ซึ่งสิ่งที่เขาทำนั้นมันทำให้คนรอบข้างรวมทั้งผมประทับใจมาก
ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ตามถ้าคุณมีเพื่อนที่ดีแล้วคุณก็จะสามารถเดินทางไปได้ทั่วโลก
แต่นั่นหมายความว่าเราต้องเป็นเพื่อนที่ดีกับคนเหล่านั้นด้วยความจริงใจ มันไม่ใช่
เป็นแค่การแลกเปลี่ยน หากแต่มีความงดงามในน้ำใจที่มาจากความจริงใจของแต่
ละฝ่ายนั้นย่อมปรากฏตัวและทำงานตามกลไกลโดยธรรมชาติของมันเอง
สหรัฐอเมริกานั้นกว้างเกินกว่าที่ความสามารถของผมจะเดินทางไปให้ทั่วดังใจ
ปราถนาภายในเวลาที่จำกัด ซึ่งผมก็ขอเล่าให้รับทราบได้เพียงเท่านี้เพราะ
ประสบการณ์ที่ผมพบเจอมานั้นไม่อาจสัมผัสได้ด้วยการบอกเล่า จึงอยากเป็น
กำลังใจให้ผู้อ่าน ถ้าหากมีแรงบันดาลใจถ้าคิดจะทำอะไรก็ทำเลย หรือคิดจะออก
เดินทางก็ให้เริ่มเลยตั้งแต่ตอนนี้ เพราะการทิ้งความฝันตัวเองมันเป็นวิธีที่ง่าย
เกินไป
จานีน: ในฐานะที่คุณเป็นศิลปินเดี่ยว คุณคิดเห็นอย่างไรกับการรวมกลุ่มของศิลปิน
เช่นจังหวัดเชียงรายเมืองศิลปิน และการรวมกลุ่มของศิลปินภาคใต้ตอนล่าง
นพนันท์: อันที่จริงศิลปินเดี่ยวก็ไม่ได้โดดเดี่ยวนะครับ ผมเองก็เกิดที่เชียงรายพี่
น้องคนทำงานศิลปะที่นั่นก็มีน้ำใจและมักเชิญชวนร่วมกิจกรรมกับกลุ่มศิลปิน
เชียงรายเป็นระยะๆ ซึ่งโดยความจริงแล้วการที่จะเป็นเมืองศิลปะอย่างเป็นทางการ
หรือไม่นั้น ผมรู้สึกว่าเชียงรายก็เป็นเมืองศิลปินโดยตัวของมันอยู่แล้ว แต่หาก
แต่งตั้งอย่างเป็นทางการก็อาจจะทำให้ได้รับการสนับสนุนการจัดกิจกรรมทางด้าน
ศิลปะต่างๆสามารถเป็นไปได้สะดวกขึ้นครับ โดยความคิดเห็นของผมแล้วการ
รวมตัวของศิลปินไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็แล้วแต่ เป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้วครับ เพราะการต่อสูู้้
โดยลำพังนั้นเป็นสิ่งที่ยากลำบากมากสำหรับนักศึกษาศิลปะและศิลปินที่ยังไม่มี
ชื่อเสียงหรือกำลังสร้างผลงานให้ประจักษ์ การรวมกลุ่มก็ถือเป็นการเกื้อกูลให้
โอกาสที่จะทำให้ผลงานของสมาชิกผู้ร่วมอาชีพศิลปินในท้องถิ่นไปสู่จุดมุ่งหมาย
ที่ควรจะเป็นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ข้อดีอีกข้อหนึ่งที่เห็นคือในท้องถิ่น
ชนบทเช่นเชียงรายนั้นมีความหลากหลายเรื่องสายงานศิลปะ จะมีตั้งแต่ช่างศิลปะ
พื้นบ้าน (Folk Art) ศิลปินที่สืบสานแบบไทยประเพณี (Traditional Thai Art)
ศิลปินที่ทำงานศิลปะแนวไทยประเพณี (Semi-Traditional Thai Art) ศิลปินแบบ
ไทยร่วมสมัยไปจนถึงศิลปินร่วมสมัยอันไม่จำกัดขอบเขตการเรียนรู้
(Contemporary Art) ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจและควรสนับสนุนครับ
จานีน: คุณอยากจะให้ข้อคิดอะไรกับศิลปินรุ่นใหม่ในอนาคตของประเทศไทย
นพนันท์: ผมอยากให้ผู้อ่านเข้าใจว่านี่เป็นการแสดงความคิดเห็นจากประสบการณ์
ของศิลปินรุ่นใหม่คนหนึ่งนะครับ สิ่งที่ผมคิดว่าควรมีสำหรับการทำงานศิลปะคือ มี
แรงบันดาลใจถ้าไม่มีก็ออกไปหามัน เรียนรู้รับฟังองค์ความรู้อื่นๆที่ไม่ใช่เรื่องศิลปะ
ไว้ด้วย อ่านหนังสือเรื่องที่เราสนใจหรือออกเดินทาง มีความรักในสิ่งที่ทำ มีวินัย
มีกัลยาณมิตร ใช้ชีวิตให้คุ้มค่ากับเวลาที่มี อีกอย่างที่สำคัญคือดูแลสุขภาพด้วย
การที่จะตระหนักรู้ถึงแก่นสารและสาระสำคัญของศิลปะนั้นต้องวัดกันทั้งชีวิต ผม
คิดว่าลำพังความสำเร็จเพียงครู่ชั่วยามในระยะสั้นๆตามหลักสูตรการเรียนการสอน
เพียงแค่ 5-10 ปี หรือการได้รับการยกย่องโดยรางวัลนั้นย่อมไม่เพียงพอ ซึ่งรางวัล
ที่มีคุณค่ามากๆอาจไม่ได้อยู่ที่เวทีใหญ่ที่สังคมมอบให้ก็ได้ แต่อาจเป็นรอยยิ้ม
เล็กๆจากใครสักคนที่เห็นคุณค่าในความงามในผลงานของเรา ผมเชื่อว่า
ความสำเร็จในการทำงานศิลปะต้องเริ่มมาจากตัวเราเองก่อน แรงบันดาลใจของ
จริงต้องสร้างมาจากขุมพลังในตัวเรา และในขณะเดียวกันเราก็สามารถเรียนรู้
ต่อไปได้ไม่รู้จบตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ อย่าหยุดฝัน แล้วลงมือทำซะ
ศิลปะนั้นเข้าใจได้ไม่ยากอย่างที่คิด เพียงแต่ว่าคุณอย่ามองศิลปะมันเป็นเพียงแค่
วัตถุสวยงามที่ตกแต่งประดับประดาเพียงแค่นั้น ดังนั้นเราควรมองที่กระบวนการ
ก่อนที่ผลงานชิ้นนั้นๆจะเกิดขึ้น ในที่นี้ผมอยากให้แยกให้ออกว่าตัววัตถุกับความ
เป็นศิลปะนั้นมีเหตุปัจจัยที่จะมารวมได้อย่างไร? ศิลปินคิดอะไร? ทำอย่างไร?
ศิลปินมีความจริงใจในการสร้างสรรค์มากน้อยเพียงใด?
ผลงานนั้นตอบโต้กับตัวคุณเองได้มากน้อยเพียงไร?
การหัดตั้งคำถามเหล่านี้กับการดูงานศิลปะจะทำให้มุมมองของคุณมีหลากหลาย
มิติมากขึ้น ถึงแม้ว่าเราแต่ละคนจะมีรสนิยมส่วนตัว แต่ก็จะทำให้มีมุมมอง
หลากหลาย และใจกว้างพร้อมที่จะเรียนรู้และสนุกกับศิลปะในรูปแบบอื่นๆที่ไม่เคย
สัมผัสได้ ซึ่งถ้าคุณมีพัฒนาการในการมองความงามของศิลปะมากขึ้นแล้ว จะเห็น
ได้ว่าศิลปะจะปรากฏอยู่แบบจะทุกที่ ศิลปะที่ไม่จำกัดแค่ว่าเป็นวัตถุศิลป์อย่างที่
เคยคุ้นชิน แต่ศิลปะจะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคุณ และคุณจะดำเนินชีวิตได้อย่าง
มีความสุข คุณจะเห็นหัวใจตัวเองยิ้มเมื่อเห็นความงามในที่ต่างๆแม้กระทั่งในที่ๆ
เคยมองข้ามมันไป โดยเริ่มจากการมองเห็นความงามในตัวคุณเองก่อนจึงจะเห็น
ความงามในผู้อื่น เห็นความงามในรูปแบบของน้ำใจ ความงามในเพื่อนมนุษย์ แม้
กระทั้งความคิดสร้างสรรค์ของกลุ่มคนที่ชีวิตลำบากกว่าคุณในการเอาชีวิตรอดนั่นก็
ถือได้ว่าเป็นความงามที่น่าสนใจ
จะเห็นได้ว่าขอบเขตการสัมผัสความงามนั้นกว้างกว่าความเป็นศิลปะวัตถุ ศิลปะนั้น
อาจจะประจุในที่ที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อน หรือว่าแท้จริงแล้วศิลปะก็อยู่ตรงกลาง
ใจเรานี่เองหากเห็นแบบนี้ได้คุณไม่จำเป็นต้องวาดรูปเป็นก็ได้และนับได้ว่าคุณ
เป็นผู้มีมีศิลปะในหัวใจและไม่ว่าศิลปะนั้นๆจะมีจุดเริ่มต้นมาจากความโหดร้ายแค่
สักแค่ไหนก็ตามมันมักจะมีกลวิธีการสื่อสารและผ่านกระบวนการที่งดงามเสมอผมว่านี
่แหละคือความมหัศจรรย์ของศิลปะ
|